ความเชื่อเรื่อง พระสมเด็จวัดระฆังฯ : คอลัมน์ ชมรมพระเครื่อง จากหนังสือพิมพ์ข่าวสด

ความเชื่อเรื่อง พระสมเด็จวัดระฆังฯ คอลัมน์ ชมรมพระเครื่อง จากหนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 17 ธันวาคม 2562


ความเชื่อเรื่องพระสมเด็จวัดระฆังฯ – สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน พระสมเด็จวัดระฆังฯ ตามที่จั่วหัวไว้ในที่นี้หมายถึงพระสมเด็จ วัดระฆังฯ ที่ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้สร้างไว้ ในปัจจุบันก็มีการพูดถึงในโซเชี่ยลมีเดียว่ามีการศึกษาหาข้อมูลมาโต้แย้งความเชื่อเดิมๆ ที่ว่ามีอยู่ 4 พิมพ์ คือพิมพ์ใหญ่ พิมพ์ทรงเจดีย์ พิมพ์ฐานแซม พิมพ์เกศบัวตูมนั้น ความจริงมีมากกว่านั้น โดยกล่าวอ้างถึงประวัติต่างๆ ที่ได้ค้นคว้าศึกษามา ซึ่งไม่ตรงกับความเชื่อเดิมๆ

ผมเองก็เป็นผู้ที่นิยมศึกษาและสะสมพระเครื่องคนหนึ่ง ก็ศึกษามาจากหลายๆ ตำรา ซึ่งก็มีมาตั้งแต่โบราณ และก็ได้ติดตามศึกษาตำราและเรื่องราวใหม่ๆ อยู่เสมอ เนื่องจากวิชาประวัติศาสตร์นั้นเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมาและเราเองก็เกิดไม่ทัน ประวัติของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็เช่นกัน คนที่มีชีวิตอยู่ปัจจุบันก็ไม่มีใครเกิดทันในช่วงชีวิตของเจ้าประคุณสมเด็จฯ กันสักคน

และก็แน่นอนว่า ไม่มีใครที่ยังมีชีวิตอยู่ได้เห็นหรืออยู่ในเหตุการณ์การสร้างพระสมเด็จวัดระฆังฯ กันสักคน ก็ได้แต่เพียงศึกษาจากการจดบันทึกและคำบอกเล่าของคนรุ่นเก่าๆ ที่เกิดทันในยุคนั้น และบันทึกเรื่องราวต่างๆ เอาไว้ ซึ่งก็มีอยู่หลายบันทึก ซึ่งบางอันบางข้อบางตอนก็ตรงกัน และก็มีที่แตกต่างไม่เหมือนกันเลยก็มี ยิ่งในปัจจุบันก็มีเรื่องราวการสร้างพระสมเด็จของเจ้าประคุณสมเด็จฯ มากมาย ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ปัจจุบันการสื่อสารทางโซเชี่ยลมีเดียเป็นที่นิยมแพร่หลาย และก็มีการเผยแพร่กันมาก โดยเฉพาะเรื่องประวัติการสร้างพระสมเด็จของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็มีมากมาย เหมือนกันบ้าง แตกต่างกันบ้าง และแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงก็มี โดยมีกลุ่มต่างๆ ได้อ้างว่าศึกษาค้นคว้ามาและมีหลักฐานยืนยัน ก็ว่ากันไป เราผู้ศึกษาเรื่องราวของพระเครื่องก็จำเป็นที่จะต้องติดตามศึกษาเรื่องราวต่างๆ ก็ต้องวิเคราะห์ว่าเรื่องไหนน่าเชื่อถือได้บ้าง

เพื่อที่จะนำมาเป็นความเชื่อส่วนบุคคลของตัวเองการเล่นหาพระเครื่องในปัจจุบันก็มีเป็นกลุ่มๆ ซึ่งบางกลุ่มก็มีความเชื่อที่ต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องพระสมเด็จของเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เรื่องการเห็นต่างก็ไม่แปลกอะไร และก็ย่อมมีสิทธิ์ที่จะมีความเห็นต่างได้ และคนที่เลือกจะเชื่อแบบไหนอย่างไรก็ย่อมเป็นสิทธิของคนคนนั้น ก็ต้องเลือกเชื่อกันเองครับ

ในส่วนตัวผมที่ได้ศึกษามาและเชื่อตามที่มีบันทึกการบอกเล่าของท่านเจ้าคุณธรรมถาวร (ช่วง จันทโชติ) เนื่องจากท่านก็อยู่รับใช้ เจ้าประคุณสมเด็จฯ มาตั้งแต่ยังบวชเป็นเณรในปีพ.ศ.2399 ในขณะนั้นเจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพกวี และอยู่รับใช้เจ้าประคุณสมเด็จฯ มาโดยตลอด จนท่านมีอายุครบบวชและได้อุปสมบทที่วัดระฆังฯ ในปีพ.ศ.2407 โดยมีเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ และอีก 3 เดือนต่อมา เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่สมเด็จพระพุฒาจารย์

ต่อมาในปีพ.ศ.2409 ตามที่เจ้าคุณธรรมถาวรเล่า คือในปีนั้นเอง เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็ได้เริ่มสร้างพระ โดยมีเรื่องราวต่างๆ ระบุว่าใครเป็นผู้แกะแม่พิมพ์ ทำอย่างไรไว้ค่อนข้างละเอียด ซึ่งในขณะที่ท่านเจ้าคุณธรรมถาวรเล่าและมีการจดบันทึกนั้นท่านก็ยังมีสุขภาพดี และมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ จึงน่าเชื่อถือได้ดี เปรียบเทียบกับตำราอื่นๆ ก็มีตรงกันบ้าง ไม่ตรงบ้าง แต่เท่าที่ศึกษาดูจากหลายๆ ตำราแล้ว การจดบันทึกคำบอกเล่าของท่าน เจ้าคุณธรรมถาวรน่าเชื่อมากที่สุด

ทีนี้ก็มาศึกษาดูเรื่องของแบบพิมพ์ของพระสมเด็จ ของวัดระฆังฯ เท่าที่ศึกษาจากคนรุ่นเก่าๆ ที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมพระเครื่อง ซึ่งท่านเหล่านั้นก็ได้ศึกษาสืบต่อกันมาจาก รุ่นสู่รุ่นอีกทีหนึ่ง ก็มีความเห็นตรงกันว่า พระสมเด็จของวัดระฆังฯ มีอยู่ 4 พิมพ์ ซึ่งก็แยกเป็นหมวดของพิมพ์พระว่ามีอยู่ 4 หมวด
ว่าแต่ละพิมพ์ก็เป็นหมวดหนึ่ง สามารถแยกตัวแม่พิมพ์ออกมาได้อีก เช่น พระพิมพ์ใหญ่สามารถแยกแม่พิมพ์ออกมาหลายแม่พิมพ์ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ของรายละเอียดในแต่ละหมวดจะมีหลักเกณฑ์ที่ เหมือนๆ กัน แต่แตกต่างกันบางอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถแยกได้ออกเป็นแม่พิมพ์ต่างๆ พิมพ์ทรงเจดีย์ก็เช่นกัน ก็แยกตัวแม่พิมพ์ออกได้อีก

พิมพ์ฐานแซมเช่นกัน นอกจากพิมพ์เกศบัวตูมของ วัดระฆังฯ เท่าที่เชื่อถือได้ และมีมูลค่ารองรับเชื่อว่ามีแม่พิมพ์เดียว ส่วนเนื้อหาหรือองค์ประกอบต่างๆ ก็มีมาตรฐานกำหนดตามที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมพระเครื่องได้กำหนดและถ่ายทอดส่งต่อกันมาแบบนี้ ที่สำคัญคือมูลค่ารองรับพระสมเด็จวัดระฆังฯ ที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ สร้าง และเชื่อถือกันมาตลอดก็เป็นแบบนี้

ซึ่งมูลค่ารองรับตามมาตรฐานนี้จะมีมูลค่าเป็นล้านบาท
ส่วนที่มีความคิดเห็นแตกต่างไป อย่างอื่นก็ว่ากันไป ก็ต้องเลือกเชื่อและยอมรับกันเองว่าจะเลือกเชื่อหรือยึดถือแบบไหน ย่อมเป็นสิทธิส่วนบุคคลครับ แต่ถ้าจะนำมาขายในส่วนกลางก็ต้องถูกต้องตามมาตรฐานของส่วนกลาง แต่ถ้าเป็นแบบอื่นแล้วเขาไม่ยอมรับหรือไม่รับซื้อก็ต้องยอมรับอีกเช่นกันนะครับว่าก็เป็นสิทธิของเขาเช่นกัน ไม่ต้องมาต่อว่าหรือขัดเคืองอันใดจริงไหมครับ ถ้าจะขายก็ต้องไปขายให้กับผู้ที่มีความเห็นและเชื่อแบบเดียวกันก็จบได้ครับ

ครับ ก็คุยกันไปเรื่อยๆ ตามประสาคนชอบพระเครื่องเหมือนๆ กันนะครับ และวันนี้ผมได้นำรูปพระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์เกศบัวตูม องค์สวย ถูกต้องตามมาตรฐานมูลค่ารองรับมาให้ชมครับ

ด้วยความจริงใจ

Share this:

ABOUT THE AUTHOR

Hello We are OddThemes, Our name came from the fact that we are UNIQUE. We specialize in designing premium looking fully customizable highly responsive blogger templates. We at OddThemes do carry a philosophy that: Nothing Is Impossible

0 comments:

แสดงความคิดเห็น