สัจจวาจาของครูบาศีลธรรม (ครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย) นักบุญแห่งล้านนา

 


สัจจวาจาของครูบาศีลธรรม (ครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย)

ครูบาศีลธรรม เป็นอีกนามหนึ่งของ “ครูบาศรีวิชัย” นักบุญแห่งล้านนา ท่านเป็นพระอริยสงฆ์รูปสำคัญยิ่งแห่งดินแดนล้านนา ครูบาศรีวิชัยเป็นพระบ้านป่าไร้ซึ่งสมณศักดิ์ แต่เปี่ยมล้นไปด้วยคุณงามความดีที่ยิ่งใหญ่เป็นอเนกประการ จึงมีผู้คนเคารพยกย่องท่านตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน

ครูบาศรีวิชัย มีชีวิตอยู่ในช่วง พ.ศ. ๒๔๒๑-๒๔๘๑ มาตุภูมิของท่านคือ บ้านปาง ต.แม่ตืน อ.ลี้ จ.ลำพูน ท่านถือกำเนิดในครอบครัวที่ยากจน แต่สิ่งนี้หาได้เป็นสิ่งที่จะสกัดกั้นไม่ให้ท่านเข้าสู่ร่มเงาของผ้ากาสาวพัตร์ได้ไม่ กลับเป็นสิ่งที่ช่วยให้พ้นไปจากวัฏสงสารมากยิ่งขึ้น

“พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต” อดีตพระอาจารย์ใหญ่ของพระสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนาธุระรูปสำคัญ แห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญร่วมสมัยกับครูบาศรีวิชัย ได้กล่าวกับ “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)” อดีตเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ ความว่า “พระศรีวิชัยองค์นี้ เป็นพระโพธิสัตว์ปรารถนาพระโพธิญาณ ขณะนี้กำลังบำเพ็ญเพียรสร้างสมบารมีธรรมอยู่ ซึ่งจะต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอีกนาน จนกว่าการสั่งสมบารมีจะบริบูรณ์”

ครูบาศรีวิชัยเป็นพระสุปฏิปันโน ท่านสอนผู้อื่นโดยการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง ท่านปฏิบัติได้แล้วจึงสอนผู้อื่น ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้คนมากมายเลื่อมใสในตัวท่าน ต่างพากันมากราบไหว้บูชาขอเป็นลูกศิษย์ของท่าน

เมื่อมีคนชอบก็ต้องมีคนไม่ชอบเกิดขึ้นเป็นธรรมดาของโลกธรรม ถึงแม้ว่าคนไม่ชอบจะมีไม่มากก็ตามเถิด ครูบาศรีวิชัยถูกกล่าวหาว่าประพฤติตนไม่เหมาะสม จนต้องอธิกรณ์ถึง ๒ ครั้ง ท่านถูกนำตัวไปให้คณะสงฆ์ชำระอธิกรณ์ที่กรุงเทพฯ แต่ด้วยความบริสุทธิ์ของท่าน มลทินทั้งหลายที่ถูกผู้อื่นนำมาแปดเปื้อนก็ไม่อาจทำให้ท่านมัวหมองได้ ครูบาศรีวิชัยจึงเดินทางกลับสู่มาตุภูมิของท่านอย่างสง่างาม

อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย อดีตปราชญ์คนสำคัญของจังหวัดลำพูน ผู้เคยได้สนทนากับครูบาศรีวิชัย ได้บันทึกไว้ใน “สารประวัติครูบาศรีวิชัย” ความตอนหนึ่งว่า “ตอนที่ครูบานั่งหนักสร้างวัดจามเทวีนั่นแหละ ข้าพเจ้าเป็นสามเณรมักจะไปไหว้ไปคุยกับท่านครูบาเสมอ วันหนึ่งท่านถามข้าพเจ้าว่า “เณรจะสึกหรือไม่?” ข้าพเจ้าตอบว่า “ไม่แน่ครับท่านครูบา เพราะอนาคตของเราคาดไม่ถูก” ท่านครูบาได้กรุณาสอนว่า “เมื่อเณรจะสึกออกไปสู่โลกภายนอก พึงประพฤติตัว อย่าให้ซื่อนัก อย่าให้ตรงนัก หื้อจะหล้วยเป็นก้านกล้วยนั้นเทอะ” อธิบายว่า คนที่อยู่ในโลกฆราวาสนั้น เป็นคนตรงไปก็อยู่กับเขาไม่ได้ เป็นคนคดงอเกินไปก็อยู่กับเขาไม่ได้ จงอย่าคดมาก อย่าตรงมาก เหมือนก้านกล้วยนั่นแหละจึงจะอยู่กับคนในโลกได้” นี่เป็นคำสอนหลังจากที่ครูบาศรีวิชัยกล่าวไว้หลังจากท่านกลับจากชำระอธิกรณ์ครั้งสุดท้าย ซึ่งเป็นช่วงบั้นปลายชีวิตท่านแล้ว

ถึงแม้ว่าครูบาศรีวิชัยจะเกิดในยุคที่บ้านเมืองยังไม่พัฒนาด้านวัตถุมากนัก อ.ลี้ เมื่อ ๑๖๐ ปีกว่าล่วงมาแล้วนั้น ยังบริบูรณ์ไปด้วยป่าไม้นานาพันธุ์ เรื่องราวเร้นลับทางไสยศาสตร์น่าจะมีให้คนในยุคนั้นได้พิศวงไม่น้อย แต่ครูบาศรีวิชัยกลับไม่ได้ส่งเสริมเรื่องนี้แม้แต่น้อย ท่านไม่ได้สร้างวัตถุมงคลใดๆ ทั้งสิ้น

เมื่อครั้งที่ท่านเดินทางด้วยรถไฟไปกรุงเทพฯ เพื่อให้คณะสงฆ์ฝ่ายปกครองชำระอธิกรณ์ ผู้โดยสารบนขบวนรถไฟ เมื่อทราบว่าท่านคือครูบาศรีวิชัยผู้โด่งดัง ต่างพากันมากราบไหว้อ้อนวอนขอเครื่องรางของขลังจากท่าน ครูบาศรีวิชัยได้แต่ยิ้มแล้วส่ายหน้า ท่านกล่าวแก่คนเหล่านั้นว่า “ไม่เคยมีไว้ให้ใคร เอาไว้เองก็ไม่มี เพราะพระพุทธองค์ไม่เคยสั่งสอนให้เชื่อถือสิ่งเหล่านั้น”

เกี่ยวกับเรื่องไสยศาสตร์ คาถาอาคมเหล่านี้ ในช่วงแรกของชีวิตในสมณเพศ ครูบาศรีวิชัยก็เคยได้ศึกษาวิชาเหล่านี้มาก่อน ถึงได้สักหมึกดำทั้ง ๒ ขา ตามแบบความนิยมของผู้ชายชาวล้านนาในสมัยนั้น ต่อมาได้ศึกษาพระธรรมอย่างถี่ถ้วนลึกซึ้ง ท่านตระหนักถึงความไม่เป็นแก่นสารของไสยศาสตร์ จึงหันหลังให้วิชาเหล่านั้นอย่างสิ้นเชิง เคยมีผู้เรียนถามครูบาศรีวิชัยเรื่องอภินิหารเรื่องหนึ่งว่า มีครั้งหนึ่งครูบาศรีวิชัยพร้อมกับศรัทธาทั้งหลายเข้าไปในป่าแห่งหนึ่ง บังเกิดฝนตกหนักมาก คนทั้งหลายเปียกกันหมด แต่ครูบาศรีวิชัยไม่เปียกเลยมีจริงหรือไม่ ท่านตอบว่า “เออเป็นความจริง ข้าไม่เปียกเลย เพราะข้ามีจ้อง (ร่ม)”

ครูบาศรีวิชัยเป็นพระผู้ปฏิบัติธรรมเยี่ยมยอดรูปหนึ่ง และมีเรื่องราวที่เรียกว่าน่าอัศจรรย์ก็ว่าได้ คือท่านสามารถกำหนดรู้จิตของผู้อื่นได้ หากผู้ใดนำของไม่บริสุทธิ์มาทำบุญกับท่าน ท่านก็จะบอกให้ผู้นั้นทราบ หรือไม่รับของนั้นเลยทีเดียว จะมาทำบาปแลกบุญนั้นครูบาศรีวิชัยท่านไม่ส่งเสริมเด็ดขาด ดังเรื่องที่ผู้เขียนจะเล่าต่อไปนี้ ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังอีกทอดหนึ่ง เป็นเรื่องราวร่วมสมัยครั้งที่ครูบาศรีวิชัยยังดำรงชีวิตอยู่

ในหมู่บ้านเดื่องก ต.ขัวมุง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ มีเศรษฐินีผู้หนึ่ง เป็นคนที่มีนิสัยเข้าทำนองว่า “หน้าเนื้อใจเสือ” (ทางล้านนาเรียกว่า “ปากหวาน ก้นส้ม”) ผู้ใดขัดสนเงินทองบากหน้าขอพึ่งพิง นางก็ให้ไปปากก็พร่ำว่า “ไม่เป็นไร เราคนกันเอง มีอะไรพูดจากันได้” แต่เวลาที่ลูกหนี้เอาของมาคืน ต้องมีค่ามากกว่าของที่ยืมไปถึงเท่าตัว ยืมเงิน ๑๐ บาท (สมัยครึ่งค่อนศตวรรษ) คืน ๒๐ บาท หากไม่มีจริงๆ เศรษฐินีผู้นี้ก็จะริบเอาข้าวของอย่างอื่นแทนเงิน เช่น ข้าวสาร เกลือ กะปิ ปลาร้า ชนิดที่ว่าอะไรพอจะตีค่าเป็นเงินได้ก็ริบไว้ก่อน

ครั้งหนึ่งครูบาศรีวิชัยออกบิณฑบาต เศรษฐินีผู้นี้ก็ไปทำบุญตักบาตรกับเขาด้วย คนอื่นตักบาตร ครูบาศรีวิชัยก็รับ แต่พอมาถึงเศรษฐินีแห่งบ้านเดื่องก ท่านกลับปิดฝาบาตร นางให้รู้สึกแปลกใจจึงกราบเรียนถามครูบาศรีวิชัยว่าเหตุใดท่านจึงไม่รับบาตรของนาง ครูบาศรีวิชัยจึงตอบเศรษฐินีผู้นี้ว่า “แม่ออกจะเอาขี้มาใส่บาตรเฮา” (“แม่ออก” หมายถึง สีกา ส่วน “เฮา” ก็คือ เรา) เศรษฐินีแห่งบ้านเดื่องกก็แทบจะแทรกแผ่นดินหนีเลยทีเดียว ส่วนจะสำนึกตัวได้หรือไม่นั้นคงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะบุคคลมีหลายจำพวก รายนี้อาจจะเป็นบัวประเภทสุดท้าย

นอกจากจะเป็นพระนักปฏิบัติแล้ว ทางด้านเทศนาโวหาร ครูบาศรีวิชัยก็ยังมีความสามารถแสดงธรรมให้ผู้คนในยุคนั้น ได้เข้าใจถึงหลักธรรมเบื้องต้นอย่างแจ่มแจ้ง ผู้เขียนขอนำ “ธรรมอานิสงส์ศีล” ที่ครูบาศรีวิชัยได้เขียนไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๔ เนื่องในงานฉลองวิหารหลวง วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่ พิมพ์เป็นอักษรเมือง (ภาษาล้านนา) ปริวรรตเป็นภาษาไทย โดยนายหนานปวงคำ ตุ้ยเขียว เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๘ ความตอนหนึ่งว่า

“...น้ำแม่น้ำคงคา ยุมนา อจิรวดี มหิมหาสลภู ซึ่งเป็นแม่น้ำใหญ่ทั้ง ๕ แม่น้ำ แม่นจักเอามาอาบให้หมดสิ้นทั้ง ๕ แม่น้ำก็ไม่อาจล้างบาป คือความเดือดร้อน ภายในให้หายได้ และฝนลูกเห็บ แม่นจะตกมาร้อยห่าให้เย็นและหนาวสักปานใดก็ดี ก็ไม่อาจจะเย็นเข้าไปถึงภายใน ให้หายความทุกขเวทนาได้ ศีล ๕ เป็นอริยทรัพย์ เป็นต้นของความบริสุทธิ์ เป็นน้ำทิพย์สำหรับล้างบาป คือความเดือดร้อน ภายในให้หายได้ เป็นบันไดแก้วสำหรับก่ายขึ้นไปสู่สวรรค์...”

พระบ้านป่ารูปหนึ่งที่ถือกำเนิดจากครอบครัวสามัญชนที่ยากจน แต่ยึดถือแน่วแน่ในหลักธรรมคำสอนของพระบรมศาสดา มีจิตใจที่มั่นคงไม่หวั่นไหวกับกิเลส มารร้ายที่คอยจ้องทำลายพรหมจรรย์อยู่ตลอดเวลา

ครูบาศรีวิชัยเป็นทองคำบริสุทธิ์ ถึงบางครั้งจะมีผู้นำสิ่งสกปรกมาสาดใส่ แต่ก็ไม่อาจทำให้ทองคำนั้นเปลี่ยนสถานะไปได้ เมื่อกาลเวลาและความจริงซึ่งเป็นเครื่องชะล้างสิ่งที่เป็นมลทินนั้นหมดสิ้นไปแล้ว ทองคำนั้นก็ยังเป็นทองคำอยู่ ยังคงส่องแสงอันงดงามอยู่ชั่วนิจนิรันดร์กาล


เรียบเรียงโดย สามารถ แจ่มจันทร์
นิตยสารศิลปวัฒธรรม ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๗ เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๙

Share this:

ABOUT THE AUTHOR

Hello We are OddThemes, Our name came from the fact that we are UNIQUE. We specialize in designing premium looking fully customizable highly responsive blogger templates. We at OddThemes do carry a philosophy that: Nothing Is Impossible

0 comments:

แสดงความคิดเห็น