รำลึกครบรอบ 15 ปี มรณกาล ประวัติ หลวงพ่ออุตตมะ อุตตมรัมโภ เทพเจ้าชาวมอญ-วัดวังก์วิเวการาม


 

 

รำลึกครบรอบ 15 ปี มรณกาล หลวงพ่ออุตตมะ อุตตมรัมโภ เทพเจ้าชาวมอญ-วัดวังก์วิเวการาม

วันจันทร์ที่ 18 ต.ค.2564 น้อมรำลึกครบรอบ 15 ปี มรณกาล “พระราชอุดมมงคล” หรือ “หลวงพ่ออุตตมะ อุตตมรัมโภ” เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ได้รับสมญาเทพเจ้าของชาวมอญ เป็นจิตวิญญาณผู้นำของชาวมอญพลัดถิ่นที่สังขละบุรี

 ท่านเป็นชาวมอญ เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 4 ตรงกับพ.ศ.2453 ที่หมู่บ้านโมกกะเนียง อ.เย จ.มะละแหม่ง เดิมชื่อ เอหม่อง ในวัยเยาว์เล่าเรียนอักขระรามัญและพม่ากับพระสงฆ์ที่วัดโมกกะเนียง

อายุครบ 19 ปี บรรพชาที่วัดโมกกะเนียง ตามประเพณีของชาวรามัญ มีพระเกตุมาลา เป็นพระอุปัชฌาย์
ศึกษาภาษาบาลีและพระปริยัติธรรมจนสอบได้นักธรรมชั้นตรีและชั้นโท ระหว่างนั้นท่านได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้พระอุปัชฌาย์อย่างใกล้ชิด จนเป็นที่เมตตาของพระอุปัชฌาย์
ตลอด 2 พรรษา ศึกษาพระปริยัติธรรมจนเกิดความศรัทธาเลื่อมใส ท่านจึงได้เข้าพิธีอุปสมบท ในปีพ.ศ.2474 ที่วัดเกลาสะ มีพระเกตุมาลา เป็นพระอุปัชฌาย์, พระนันทสาโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระวิสารทะ วัดเจ้าคะเล เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ได้นามฉายาว่า อุตตมรัมโภ แปลว่า ผู้มีความพากเพียรอันสูงสุด

หลังอุปสมบทแล้ว ลาอุปัชฌาย์ไปศึกษาบาลีและพระปริยัติธรรมที่วัดปราสาททอง จ.มะละแหม่ง จนสอบได้นักธรรมชั้นเอก

จากนั้นกราบลาพระอาจารย์ไปจำพรรษาที่วัดสุการึ จ.สะเทิม ซึ่งเป็นสำนักเรียนภาษาบาลีและพระปริยัติธรรม และสามารถสอบได้เปรียญ 8 ประโยค
ต่อมาย้ายไปจำพรรษาที่วัดป่าเลไลยก์ จ.มัณฑะเลย์ เพื่อศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานกับพระอาจารย์อัคควังโส ซึ่งเป็นอาจารย์ที่เชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน เป็นเวลา 1 พรรษา
พ.ศ.2486 พระอุตตมะออกธุดงค์เพื่อหาประสบการณ์เข้ามาทางประเทศไทย ครั้งแรกท่านเข้ามาทางจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างนั้นได้พบกับพระธุดงค์หลายรูป อาทิ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร เป็นต้น

เวลาต่อมา ทราบข่าวว่าพระเกตุมาลา พระอุปัชฌาย์กำลังอาพาธ จึงรีบเดินทางกลับพม่า ครั้นพระเกตุมาลามรณภาพ ท่านได้เดินทางเข้ามาประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง

ครั้งนี้ หลวงพ่อเดินทางเข้ามาทาง ต.ปิล็อค อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี จำพรรษาอยู่ที่วัดปรังกาสี 2 พรรษา ก่อนย้ายไปจำพรรษาที่วัดเกาะ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ซึ่งชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบบริเวณวัดเป็นชาวรามัญ

ฝึกพูดภาษาไทยและศึกษาหนังสือไทยจนสามารถ อ่านเขียนภาษาไทยได้
พ.ศ.2494 มีคนมาแจ้งข่าวแก่หลวงพ่ออุตตมะว่า ที่ อ.สังขละบุรี มีชาวมอญจากบ้านเดิมของหลวงพ่ออพยพเข้าเมืองไทยเป็นจำนวนมาก และต้องการนิมนต์หลวงพ่อไปเยี่ยม
หลวงพ่ออุตตมะเดินทางไปยัง อ.ทองผาภูมิ และ ไปยัง อ.สังขละบุรี และพบกับคนมอญทั้งหมดที่มาจากโมกกะเนียง เจ้าคะเล และมะละแหม่ง บ้านเกิดของท่าน
จึงพาชาวมอญเหล่านี้ไปอาศัยอยู่ที่บ้านวังกะล่าง นับเป็นจุดกำเนิดแรกเริ่มของชุมชนชาวมอญในสังขละบุรี

ต่อมา พ.ศ.2499 หลวงพ่ออุตตมะ ร่วมกับชาวบ้านที่เป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงและชาวไทยเชื้อสายมอญพร้อมใจกันสร้างศาลาวัดขึ้น และสร้างเสร็จในเดือน 6 ของปี
แต่เนื่องจากยังมิได้มีการขออนุญาตจากกรมการศาสนา วัดที่สร้างเสร็จ จึงมีฐานะเป็นสำนักสงฆ์ แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปเรียกว่า วัดหลวงพ่ออุตตมะ
พ.ศ.2505 ได้รับอนุญาตจากกรมการศาสนาเป็นที่เรียบร้อย หลวงพ่ออุตตมะ ตั้งชื่อสำนักสงฆ์ตามชื่ออำเภอเก่า (อำเภอวังกะ) ว่า วัดวังก์วิเวการาม
ลำดับสมณศักดิ์และตำแหน่งด้านการปกครองคณะสงฆ์หลวงพ่ออุตตมะ มีดังนี้ พ.ศ.2504 เป็นเจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม พ.ศ.2505 เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีสุวรรณาราม
พ.ศ.2511 เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2524 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระอุดมสังวรเถร
พ.ศ.2534 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชอุดมมงคล

พ.ศ.2545 หลวงพ่อเริ่มมีอาการอาพาธ ไปจำพรรษาที่บริเวณสำนักสงฆ์ซึ่งลูกศิษย์จัดสร้างให้ตั้งอยู่บริเวณพุทธมณฑล และได้เข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชเป็นประจำ
เช้าวันที่ 18 ต.ค.2549 หลวงพ่ออุตตมะละสังขารอย่างสงบ ด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด ที่โรงพยาบาลศิริราช สิริอายุ 97 ปี พรรษา 73

Share this:

ABOUT THE AUTHOR

Hello We are OddThemes, Our name came from the fact that we are UNIQUE. We specialize in designing premium looking fully customizable highly responsive blogger templates. We at OddThemes do carry a philosophy that: Nothing Is Impossible

0 comments:

แสดงความคิดเห็น