ประวัติ พระครูภาวนาทัศนวิสุทธิ (หลวงปู่แว่น ธนปาโล) วัดถ้ำพระสบาย จังหวัดลำปาง

ประวัติ พระครูภาวนาทัศนวิสุทธิ (หลวงปู่แว่น ธนปาโล) วัดถ้ำพระสบาย อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง


 

จากหนังสือ บูรพาจารย์ จัดพิมพ์โดย มูลนิธิ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

นามเดิม : แว่น ทุมกิจจะ เป็นบุดรของนายวันดี และนางคำไพ ทุมกิจจะ


เกิด : วันเสาร์ที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ เดือน ๔ ปีจอ ณ บ้านบัว อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
บรรพชา : เมื่ออายุ ๑๘ ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ณ วัดศรีรัตนาราม อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร พระอาจารย์สีทอง เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้พบหลวงปู่สิม พฺทธาจาโร (เป็นญาติลูกผู้พี่ผู้น้องใกล้ชิดท่าน) เกิดความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างมาก จึงสนใจการปฏิบัติทางสายธุดงค์กัมมัฏฐาน
 

อุปสมบท : สายธรรมยุต เมื่ออายุ ๒๑ ปี ณ วัดศรีเทพประดิษฐาราม จังหวัดนครพนม โดยพระเทพสิทธาจารย์ (จันทร์ เขมิโย) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสารภาณมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ เคยรับการอบรมธรรมกับท่านพ่อลี ธมฺมธโร) ที่วัดป่าคลองกุ้ง จังหวัดจันทบุรี ก่อนที่จะเข้ามาเป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น ต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาสอยู่ ๖ ปี จึงได้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดถ้ำพระสบาย อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง กระทั่งมรณภาพ
 

สมณศักดิ์ : เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูภาวนาทัศนวิสุทธิ
มรณภาพ:วันอังคารที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ สิริรวมอายุได้ ๘๘ ปี ๘ เดือน ๒๑ วัน พรรษา ๖๘
 

อาจาริยธรรม


ในพรรษาที่ ๑๒ ของหลวงปู่แว่น ธนปาโล นั้น พระอาจารย์เกิ่งได้ชวนหลวงปู่ไปกราบนมัสการศพท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโลเถระ ที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลราชธานี หลวงปู่แว่นได้มีโอกาสกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร ซึ่งท่านมีความเลื่อมใสศรัทธาท่านพระอาจารย์มั่นอยู่แล้ว เมื่อได้กราบไหว้องค์จริงและเห็นจริยาวัตรอันงดงาม ก็ยิ่งเพิ่มความเลื่อมใสศรัทธาอย่างสุดจิตสุดใจ จึงได้กราบถวายตัวเป็นศิษย์ของท่านพระอาจารย์มั่นในครั้งนั้น


หลวงปู่ได้รับความเมตตากรุณาจากท่านพระอาจารย์มั่น ด้วยการที่ท่านรินน้ำร้อนแล้วยื่นให้หลวงปู่ฉัน โดยใช้ถ้วยของท่านพระอาจารย์มั่นนั่นเอง ด้วยความเคารพครูบาอาจารย์ หลวงปู่รู้สึกว่าเป็นการไม่สมควรที่จะใช้ถ้วยน้ำร้อนใบเดียวกันท่านพระอาจารย์มั่น ท่านจึงลังเล อิดเอื้อน ถือถ้วยน้ำร้อนไว้เฉย ๆ พร้อมทั้งมองหาถ้วยใบอื่นมาเปลี่ยน 


ท่านพระอาจารย์มั่นเห็นอาการลังเลของศิษย์ จึงกล่าวกำชับให้ฉันอีก และให้ฉันให้หมด หลวงปู่จึงจำเป็นต้องฉัน เพราะไม่อยากขัดความเมตตาจากครูบาอาจารย์


โอวาทธรรมของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตมหาเถระ


ต่อจากนั้น ท่านพระอาจารย์มั่นจึงเทศน์เชิงเปรียบเทียบให้หลวงปู่แว่นฟังว่า
“มีชายคนหนึ่งชำนาญในการตกเบ็ด เอากบน้อยไปเกี่ยวเบ็ดเป็นเหยื่อตกปลา เมื่อหย่อนเบ็ดลงในน้ำ กบก็ตีน้ำอยู่ไปมา ปลาเห็นเข้าก็ฮุบกบเป็นอาหาร ยังคงเหลือหนังกบติดอยู่กับเบ็ด ชายคนนั้นจึงนำเอาสิ่งที่พบเห็นไปเป็นอุบายเจริญภาวนา จนเห็นร่างกายตนชัดเจน”
ท่านพระอาจารย์มั่นย้ำต่อไปว่า 


“การดูตัวเองจนเห็นชัด ดีกว่าไปพิจารณาคนอื่น เห็นคนอื่นมีแต่น่าตำหนิทั้งหมด สู้ดูตัวเองไมได้เน๊าะ”
พอท่านพระอาจารย์มั่นเทศน์เสร็จ ท่านก็ลุกขึ้นเดินลงจากกุฏิไปท่าน้ำเพื่อลงเรือข้ามฟาก หลวงปู่เดินตามไปพร้อมกับกำหนดดูอิริยาบถท่านพระอาจารย์มั่นไปด้วย และคิดในใจว่า ท่านพระอาจารย์มั่นช่างมีจิตใจที่มั่นคงสมชื่อจริง ๆ 


เมื่อไปถึงท่าน้ำ ท่านพูดว่า “ท่านลงเรือลำนี้ ผมจะลงลำนั้น” คือชี้ให้ลงเรือคนละลำกัน หลวงปู่ยืนนิ่งอยู่เพราะตั้งใจจะขอลงเรือลำเดียวกันกับท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งท่านได้พูดย้ำคำพูดเดิมอีกถึง ๒ ครั้ง หลวงปู่จึงลงเรือคนละลำกับท่านพระอาจารย์มั่น พระเณรที่ติดตามมาต่างก็ลงเรือจนเต็มทั้งสองลำแล้วข้ามฝั่งไป
จากอุบายธรรมที่ท่านพระอาจารย์มั่นเทศน์สอนหลวงปู่นั้น แสดงว่าท่านกำหนดรู้ถึงการปฏิบัติภาวนาของหลวงปู่เมื่อครั้งอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี (คือหลวงปู่ได้พิจารณาซากศพก่อนเผา เกิดนิมิตศพโยมเป็นร่างกายของหลวงปู่ขึ้นมาแทน จนปรากฏเห็นไตรลักษณ์ชัดเจน ซึ่งท่านพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำอีก จนรู้สึกถึงความจริงในอัตภาพร่างกายคนเราได้) หลวงปู่จึงได้นำไปเป็นอุบายในการกำหนดพิจารณาธาตุขันธ์ร่างกายเป็นอารมณ์ ตามจริตของหลวงปู่เอง 


การนำอุบายจากท่านพระอาจารย์มั่นไปกำหนดการภาวนา นับว่าเป็นประโยชน์มหาศาลแก่หลวงปู่ โดยถือเป็นทางดำเนินที่เข้ามรรคผลได้อย่างดียิ่ง การปฏิบัติภาวนาของหลวงปู่ในระยะต่อมาได้รุดหน้าอย่างรวดเร็ว กำลังสติ กำลังปัญญา มีความแจ่มใสมากขึ้นโดยลำดับ จนสามารถเอาตัวรอดได้ สมความตั้งใจของท่านที่มุ่งปฏิบัติชอบตามครูบาอาจารย์ เจริญรอยตามเยี่ยงพระอริยสาวกทั้งหลาย


ในงานศพท่านพระอาจารย์เสาร์ มีหลายสิ่งที่หลวงปู่รู้สึกประทับใจในวิธีการของท่านพระอาจารย์มั่น และนำมาเล่าให้ลูกศิษย์ลูกหาฟังบ่อย ๆ


มีอยู่คืนหนึ่ง พวกชาวบ้านได้พากันหามเสื่อไปจนถึงกุฏิที่ท่านพระอาจารย์มั่นพักอยู่ ท่านพระอาจารย์มั่นถามว่า
“จะเอาไปทำอะไร”
ชาวบ้านตอบว่า จะเอาไปปูนั่งเพื่อฝึกหัดร้องสรภัญญะ เพื่อจะไปร้องแข่งในงานศพ ท่านพระอาจารย์เสาร์
ท่านพระอาจารย์มั่นได้เรียกประชุมสงฆ์ เมื่อคณะสงฆ์มาพร้อมจึงพูดขึ้นว่า
“สรภัญญะนี้ ท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ท่านไม่ได้สอน ผมก็ไม่ได้สอน ใครเป็นผู้สอนหือ?”
ความจริงท่านพระอาจารย์มั่นท่านก็รู้ว่าใครเป็นคนสอน แต่ท่านไม่ออกชื่อ ทั้ง ๆ ที่ผู้สอนก็นั่งอยู่ใกล้ ๆ (คงจะหมายถึงหลวงปู่แว่นเองก็ได้ เพราะท่านเคยเป็นครูสอนสรภัญญะในพรรษาที่ ๖ เมื่อครั้งไปพำนักที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา) ตั้งแต่คืนนั้น ไม่มีใครกล้าฝึกร้องสรภัญญะอีกเลย แต่เอาเวลาส่วนใหญ่ไปปฏิบัติสมาธิภาวนา ต่างคนต่างปฏิบัติ ดูจิตดูใจของตนเอง
เกี่ยวกับข้อปฏิบัติของท่านพระอาจารย์มั่นอีกเรื่องหนึ่ง ในงานศพท่านพระอาจารย์เสาร์ คือ เขานิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่นไปชักบังสุกุลศพท่านพระอาจารย์เสาร์ ท่านพระอาจารย์มั่นเดินไปที่ศพท่านพระอาจารย์เสาร์ กราบลง แล้วเดินกลับ ไม่ยอมชักบังสุกุล
เมื่อออกพรรษาที่ ๑๓ แล้ว หลวงปู่ออกเดินทางจากวัดโนนนิเวศน์ อุดรธานี ธุดงค์ไปยังจังหวัดสกลนครบ้านเกิด แล้วเข้ากราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น พอท่านเห็นก็ถามขึ้นว่า
“ท่านแว่น ท่านภาวนาอย่างไร”
หลวงปู่กราบนมัสการว่า
“กระผมพิจารณาดูกาย จนกระทั่งจิตพลิกเห็นความสว่างไสวแล้วเข้าสู่ตัวรู้นั้น”
ท่านพระอาจารย์มั่นจึงให้อธิบายอีกครั้งว่า
“การที่ท่านแว่นพิจารณากายจนจิตพลิกไปสู่ความรู้ แล้วก็เข้าไปอยู่ในความรู้นั้น จะเป็นการทำให้ท่านติดอยู่ในความสุขอยู่อย่างนั้น ครั้นออกจากความรู้เข้ามาในกาย มันก็ทุกข์ ๆ สุข ๆ อยู่อย่างนั้น ไม่มีที่สิ้นสุด”
หลวงปู่กราบเรียนถามท่านพระอาจารย์มั่นว่า
“หลวงปู่ ทำอย่างไรจึงได้คุณงามความดี”
ท่านพระอาจารย์มั่นตอบว่า
“แต่ก่อนผมก็ยังเดือดร้อนอยู่ ภาวนาปักจิตลงในกายทั้งวันทั้งคืนไม่ถอน มันจึงระเบิดออกให้เห็น ตั้งแต่นั้นความรู้เกิดขึ้นไม่รู้จักหมด”


หลังจากได้รับอุบายธรรมจากท่านพระอาจารย์มั่นในครั้งนั้นแล้ว หลวงปู่รู้สึกอิ่มเอิบในความเมตตาจากท่านพระอาจารย์มั่นเป็นอย่างมาก มีกำลังใจในการค้นหาสัจธรรมด้วยใจเด็ดเดี่ยวยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็ปรารถนาที่จะอยู่ใกล้ชิดเพื่อรับการฝึกอบรมจากท่านพระอาจารย์มั่นให้มากขึ้นจึงกราบเรียนท่านพระอาจารย์มั่นว่า
“กระผมจะขอนิสัย” (หมายความว่า ขออยู่รับใช้ใกล้ชิด เพื่อให้ครูบาอาจารย์ช่วยแนะนำอบรมบ่มนิสัยให้)
ท่านพระอาจารย์มั่นตอบว่า
“ท่านแว่นพรรษา ๑๓ ก็พ้นนิสัยแล้ว”
หลวงปู่จึงกราบเรียนถวาย
“พรรษาตามพระวินัยผมก็รู้จัก แต่ผมไม่ต้องการ ผมต้องการนิสัยของท่านพระอาจารย์มั่นที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ไม่ต้องกลับมาเกิด แก่ เจ็บ ตายอยู่ในโลกนี้อีก”
ท่านพระอาจารย์มั่นจึงให้นิสัย แล้วหลวงปู่ก็เร่งความเพียรมากขึ้น เมื่อมีสิ่งใดติดขัด ก็เข้าเรียนถามท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องข้อนั้น ๆ การปฏิบัติบังเกิดผลดี จิตปลอดโปร่ง มีกำลังสมาธิเพิ่มขึ้น ล่วงมาจนใกล้จะเข้าพรรษา หลวงปู่จึงกราบลาท่านพระอาจารย์มั่น เดินทางไปจำพรรษาที่อำเภอพรรณานิคม
ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๙๒ หลวงปู่ได้รับข่าวมรณภาพของท่านพระอาจารย์มั่น หลวงปู่คิดจะเดินทางไปเคารพศพของท่านพระอาจารย์มั่นที่จังหวัดสกลนคร บังเอิญหลวงปู่สิมได้แวะมาเยี่ยมหลวงปู่ในช่วงนั้น ได้กล่าวทัดทานไว้ โดยให้ข้อคิดว่า
“ท่านพระอาจารย์มั่นของเรา ท่านมิได้ปรารถนาให้เดินทางไปเคารพศพท่าน แต่ท่านพระอาจารย์มั่นประสงค์ให้ลูกศิษย์ลูกหาตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติรักษาจิตใจให้มั่นคง”
หลวงปู่แว่นจึงไม่ได้เดินทางไปยังวัดป่าสุทธาวาส แต่มุ่งมั่นในการปฏิบัติภาวนาเพื่อค้นหาสัจธรรมให้ยิ่งยวดขึ้นไปตามแนวทางที่ได้รับการอบรมธรรมมาจากท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร
 

จากหนังสือ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระครูภาวนาทัศนวิสุทธิ (หลวงปู่แว่น ธนปาโล) วัดถ้ำพระสบาย อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง โดยคณะศิษยานุศิษย์



ï®ï®ï®ï®ï®ï®ï®ï®ï®ï®ï


ข้อความต่อจากนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระทู้ที่โพสท์ใน ลานธรรมเสวนา
โดย : นายประสงค์ กระทู้ที่ 000223


จากหนังสืออนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงศพ ของหลวงปู่แว่น ธนปาโร 

หลวงปู่แว่น พระผู้มีกาย วาจา ใจบริสุทธิ์


หลวงปู่แว่น ธนปาโล แห่งถ้ำพระสบาย ต.นาครัว อ.แม่ทะ จ.ลำปาง เป็นพระวิปัสนาจารย์ ที่เป็นที่เคารพนับถือของผู้ปฏิบัติธรรมในปัจจุบัน


ท่านเป็นเป็นศิษย์อาวุโสองค์หนึ่งของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ผู้เขียน (อ.ปฐม) ได้มีโอกาสไปกราบหลวงปู่แว่นหลายครั้ง ทั้ง ที่ กทม.และที่วัดถ้ำพระสบาย แทบทุกครั้งท่านจะทักผู้เขียนเสมอว่า "เมื่อไรจะบวช"
ใจจริงผู้เขียนก็ปรารถนาที่จะบวช และมอบกายถวายชีวิต เพื่อตามรอยองค์พระศาสดา แต่ก็ยังหาโอกาสนั้นไม่ได้ เพราะหลงโลกมาเป็นเวลานาน การจะถอดจะถอนจากโลก ที่เราสร้างไม่ใช้ทำได้ง่าย จึงกราบเรียนหลวงปู่ไปว่า "ผมอยากจะบวช แต่ยังมีเมียมีลูกจะต้องดูแล"
หลวงปู่ตอบว่า "เอาเมียมาบวชด้วย"
ผมก็ตอบว่า "ทำไม่ได้ครับ ลูกยังเรียนหนังสืออยู่"
หลวงปู่ก็รุกว่า "เอาลูกมาบวชเณรด้วยก็ได้"
ผู้เขียนก็จนแต้ม ได้แต่หัวเราะแก้เก้อไป
ผู้เขียนถูกรุกด้วยคำถามข้างต้นอยู่เสมอ ซึ่งแสดงว่าในน้ำจิต น้ำใจของหลวงปู่ ท่านมีศรัทธายิ่งต่อการบวชเป็นพระภิกษุ ท่านปฏิบัติ ตามพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด ระมัดระวังทุกอิริยาบถ
ผู้มีโอกาสได้กราบไหว้และใกล้ชิดหลวงปู่ ย่อมรู้ว่าท่านเป็นพระ ดีองค์หนึ่งในปัจจุบัน
พระดีจะมีพลังดึงดูดให้ผู้ปฎิบัติธรรมเข้าหา เข้าใกล้ ด้วยความซาบซึ้งใจ กราบแล้วก็ยังไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอ
คุณดำรงค์ ภู่ระย้า นักเขียนธรรมแห่งนิตยสารโลกทิพย์ได้เขียนถึงหลวงปู่แว่นว่า
"หลายครั้งแล้วที่ผู้เขียนเดินทางไปกราบพระดีที่ควรกราบไหว้แห่ง จ.ลำปาง เมื่อไปพบท่านเป็นครั้งแรก แม้ท่านจะเป็นพระที่พูดน้อย ชนิดที่ถามคำแล้วก็ตอบคำ แต่ทว่าในส่วนลึกของจิตใจนั้นเกิดความ ศรัทธาในปฏิปทาของท่านเป็นอย่างมาก


ตลอดเวลาในการนั่งสนทนากับท่าน ท่านจะนั่งตัวตรงนิ่งด้วย อาการสำรวม อย่างหาที่ติไม่ได้เลย ไม่ว่าญาติโยมนั้นจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม กิริยาจะสำรวมอย่างนี้ตลอด"
อีกตอนหนึ่งผู้เขียนคนเดียวกัน ก็สรุปถึงคุณลักษณะของหลวงปู่แว่น โดยรวมว่า
"...จึงจะเห็นได้ว่า ท่านพระอาจารย์แว่น ธนปาโล มีกายบริสุทธิ์ วาจาบริสุทธิ์ ใจบริสุทธิ์อย่างแท้จริง"
ท่านเป็นพระอริยะเจ้าที่มีกาย วาจาใจ บริสุทธิ์ เป็นองค์หนึ่งในยุคปัจจุบัน ในยุคที่พระดีค่อนข้างที่จะหายากอย่างงยิ่ง


หลวงปู่แว่น ใช้ชีวิตเป็นพระภิกษุยาวนานต่อเนื่องกันถึง 68 ปี ท่านผ่านการธุดงค์ มาอย่างโชกโชน และน่าจะยึดถือเป็นแบบอย่าง ในการปฏิบัติอย่างไม่น่าเคลือบแคลงสงสัยใดๆเลย
ท่านเป็นพระที่เรากราบไหว้ได้ด้วยความสนิทใจ ไม่สงสัยเคลือบแคลงใดๆ ทั้งสิ้น

นิสัยใฝ่ธรรมตามโยมมารดา


ในชีวิตเยาว์วัย เด็กชายแว่นมักจะตามมารดาไปยังที่ต่างๆ เสมอเรียกว่าติดแม่อย่างมาก จากการติดแม่นี้เอง ทำให้หลวงปู่ได้นิสัยใฝ่ธรรมมาตั้งแต่เล็กๆ โดยเฉพาะวันโกนวันพระ เด็กชายแว่นจะมีโอกาสไปวัด คุ้นเคยกับกับวัด คุ้นเคยกับพระสงฆ์องคเจ้า มาตั้งแต่เยาว์วัย ท่านมีศรัทธาต่อการบวช ได้รับการโน้มน้าวจิตใจ คิดอยากจะบวชตามพระเณร ตามที่ท่านได้เคยเห็นมา
*ตัวตนไม่ใช่ของเรา
สมัยหลวงปู่เข้าสู่วัยรุ่น ท่านเคยล้อเลียนให้โยมแม่ตกอกตกใจเหมือนกัน
หลวงปู่เล่าว่า วันหนึ่งโยมมารดากลับจากไปฟังเทศน์กรรมฐานจากวัด ก็เอาคำพระมาสอนลูกว่า "ตัวตนไม่ใช่ของตน” หลวงปู่กำลังถือมีดโต้อยู่พอดี นึกสนุกคว้ามีดโต้จะฟันลงที่โยมมารดา เพื่อจะลองคำพูดที่ว่า "ตัวตนไม่ใช่ของเรา”
โยมมารดาตกใจนึกว่าจะฟันจริงๆ ร้องลั่นว่า “อย่า มึงอย่ามาฟันกู”
ทุกคนที่อยู่ ณ ที่นั้นต่างหัวเราะขบขันกัน ที่เห็นหลวงปู่ล้อมารดาคราวนั้น
หลวงปู่ได้พูดถึงเรื่องนี้ภายหลังว่า
"พอมาบวชแล้วถึงได้รู้จักคำสอนในตัวเรา กว่าจะอ่านจิตใจออก”
พร้อมทั้งลากเสียงสูงตามเอกลักษณ์ของหลวงปู่ว่า
"พุทโธ้! มันไม่ใช่ของง่ายเลย”
หมายความว่าการที่จะเข้าใจในเรื่องตัวเรา-ของเรา ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
 

ผู้สหชาติกับหลวงปู่สิม


ในหนังสือที่ระลึกสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จผูกพัทธสีมาวัดถ้ำพระสบายวันที่ 23 ม.ค.40 ได้บันทึกในเชิงเปรียบเทียบไว้ว่า


“ในครั้งพุทธกาล พระอานนท์ เป็นพุทธอนุชา ผู้เป็นสหชาติเกื้อกูลพระพุทธองค์ ในกึ่งพุทธกาลนี้ พุทธสาวกผู้สัมมาปฏิบัติเช่นหลวงปู่สิม พุทธาจาโร ก็มี หลวงปู่แว่น ธนปาโล ผู้มีศักดิ์เป็นน้องชายคอยช่วยเกื้อกูลกันและกัน”


หลวงปู่สิม เป็นพระวิปัสนาจารย์ที่เป็นที่เคารพรัก และศรัทธา ของเหล่าพุทธศาสนิกชน ผู้ปฎิบัติธรรม แห่งถ้ำผาปล่อง อ. เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ท่านมรณภาพเมื่อวันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม 2535 สิริรวมอายุได้ 82 ปี 9 เดือน 19 วัน อายุพรรษา 63 พรรษา


หลวงปู่สิม กับหลวงปู่แว่น เป็นญาติใกล้ชิดกัน ในตระกูล โยมพ่อของหลวงปู่สิม เป็นพี่ชายแท้ๆ ของโยมแม่ ของหลวงปู่แว่น จึงถือว่าหลวงปู่สิมเป็นญาติผู้พี่ และหลวงปู่แว่น เป็นญาติผู้น้อง ที่สำคัญก็คือ ท่านทั้งสองมีอายุไล่เลี่ยกัน สนิทสนมกันตั้งแต่เด็ก และอุปถัมภ์ เกื้อกูล กันมาตลอด


หลวงปู่แว่นเล่าให้ฟังว่า สมัยยังหนุ่ม หลวงปู่ทั้งสองมักเที่ยวในหมู่บ้านต่างๆ ด้วยกันตามประสาคนหนุ่ม ก่อนบวช หลวงปู่สิมนั้นเป็นหมอลำ ส่วนหลวงปู่แว่นนั้น เป็นหมอแคนคู่กันไป ความสนิทสนมของหลวงปู่ทั้งสอง จึงมีความลึกซึ้งแนบแน่น เป็นอย่างมาก หลวงปู่สิมบวชเป็นพระก่อน และเมื่อสมัยหลวงปู่แว่นจะออกบวช หลวงปู่สิม ได้ให้ความช่วยเหลือ เกื้อกูล และก็ได้เกื้อกูลกันมาต่อเนื่อง ในระหว่างบรรพชิตจนปัจฉิมวัย 


นอกจากหลวงปู่สิมแล้ว ทั้งสององค์ ยังมีญาติผู้หลาน ที่เป็นพระอริยเจ้าซื่อดังแห่งลำปาง อีกองค์หนึ่งคือ หลวงปู่หลวง กตปุญโญ แห่งวัดป่าสำราญนิวาส อ.เกาะคา จ.ลำปาง ใกล้ชิดของหลวงปู่ทั้ง 3 องค์
*บรรพชาเป็นสามเณร


หลวงปู่บวชเณรเมื่ออายุ 18 ปีเมื่อปี พ.ศ.2472 ที่วัดศรีรัตนาราม จ. สกลนคร มีพระอาจารย์สีธร เป็นพระอุปัชฌาย์ 

ติดตามหลวงปู่สิม


หลังจากที่หลวงปู่แว่นบวชเณรแล้ว พระภิกษุสิม ญาติผู้พี่ ซึ่งบวชเป็นพระธรรมยุติ และผึกปฎิบัติอยู่กับหลวงปูมั่น ได้เดินทางกลับบ้านเพื่อเกณฑ์ทหารเพราะอายุครบ 20 ปี
หลวงปู่แว่นเล่าถึงหลวงปู่สิมในสมัยนั้นว่า


"เมื่อเห็นจริยาวัตรอันงดงามทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะนั่งยืนเดินของพระภิกษุสิมจึงนำความมาเล่าให้พี่ชายฟังว่า เห็นครูบาสิมน่าเลื่อมใส จะขออกกรรมฐานด้วย"
พระพี่ชายจึงบอกว่า


"ดีหละเณร ถ้าจะออกกรรมฐาน เราจะหามุ้งกลดให้"
เณรแว่นได้ลาโยมบิดามารดา ออกธุดงค์เมื่อหลวงปู่สิมไม่ถูกเกณฑ์ทหาร และท่านได้พาเณรแว่นไปขอนแก่น ระหว่างทางได้พักที่ป่าช้า อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร พระภิกษุสิมได้ทำเพิงพัก ส่วนเณรแว่นนอนบนพื้นดิน โดยหักไม้มาแทนที่หมอนและที่นอน


เวลากลางคืนพระภิกษุสิมได้สอนเณรแว่นให้ภาวนา และเดินจงกรม ตามแบบหลวงปู่มั่น
หลวงปู่เล่าว่า ถูกพระภิกษุสิมตีหลังเสียหลายที เวลากราบพระ เพราะเวลากราบพระ เพราะท่านกราบหลังโก่ง ดูไม่งดงาม ท่านต้องไปฝึกกราบ จนถูกต้องแล้ว จึงมากราบพร้อมกับพระภิกษุสิม
นอกจากนั้นพระภิกษุสิมยังสอนวิธีการครองผ้า และข้อวัตรต่างๆ ตามสมควร


จากคุณ : ประสงค์ [ 13 ส.ค. 2542 ]


ความคิดเห็นที่ 14 : (ทองจันทร์)
ขอบคุณมากครับ เรื่องที่หลวงปู่แว่น ชอบชวนคนบวชผมก็เคยประสบด้วยตัวเองครับ ตอนนั้นฟังท่านเทศน์ที่ ม.ธรรมศาสตร์พอท่านเทศน์จบคนเขาให้ท่าน เป่าหัวให้ ก็เลยไปบ้าง ท่านก็ว่า "นี่เป่าให้ได้บวชนะ "
จากคุณ : ทองจันทร์ [ 12 ส.ค. 2542 ]

Share this:

ABOUT THE AUTHOR

Hello We are OddThemes, Our name came from the fact that we are UNIQUE. We specialize in designing premium looking fully customizable highly responsive blogger templates. We at OddThemes do carry a philosophy that: Nothing Is Impossible

0 comments:

แสดงความคิดเห็น