ประวัติ หลวงพ่ออินทร์ อินทโชโต วัดยาง เกจิดังอดีตเจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี
ประวัติ หลวงพ่ออินทร์ อินทโชโต เกจิดังอดีตเจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี
“พระเทพวงศาจารย์” หรือ หลวงพ่ออินทร์ อินทโชโต อดีตเจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี และอดีตเจ้าอาวาสวัดยาง อ.เมือง จ.เพชรบุรี พระเกจิผู้ปรากฏเกียรติคุณชื่อเสียงโด่งดัง
มีนามเดิมชื่อ อินทร์ พรหมโลก เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 ต.ค.2429 ที่บ้านไร่คา ต.ลาดโพธิ์ อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี
ครั้นอายุครบ 14 ปี บรรพชา เมื่อ วันที่ 28 เม.ย.2442 โดยมีเจ้าอธิการพลับ วัดวังบัว เป็นพระอุปัชฌาย์
จากนั้นเดินทางไปศึกษาต่อที่วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพฯ เรียนมูลกัจจายน์ กับ พระมหาริด (เปรียญ 4 ประโยค) และอาจารย์นวล เป็นเวลา 6 ปี
ครั้นถึงวันที่ 9 พ.ค.2450 เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดวังบัว โดยมีพระพิศาล สมณกิจ (ริด) เป็นพระอุปัชฌาย์
ขณะเรียนวันหนึ่งได้แปลหนังสืออยู่กับพระพิศาลสมณกิจ (ริด) กรมพระสมมติอมรพันธุ์ และกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งโดยเสด็จมากับพระพุทธ เจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ครั้งแปรพระราชฐานมายังเมืองเพชรบุรี เสด็จชมวัดคงคาราม ทรงได้ยินการแปลหนังสือของ พระภิกษุอินทร์ จึงสนับสนุนให้ไปสอบในสนามหลวง แต่ในปีนั้นพระพุทธ เจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต จึงเป็นเหตุให้งดการสอบ
กระทั่ง พ.ศ.2452 ได้รับตราตั้งเป็นพระสมุห์ ฐานานุกรมพระพิศาลสมณกิจ (ริด) พ.ศ.2453 ได้เป็นพระปลัด ฐานานุกรมพระพิศาลสมณกิจ พ.ศ.2456 เดินทางเข้าไปเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดเบญจมบพิตรอยู่ 8 เดือน
เมื่อกลับมาได้สร้างหอไตรขึ้นหลัง หนึ่งโดยมีจีนหงส์ ชาวบ้านปากทะเล อ.บ้านแหลม เป็นผู้ออกทุนทรัพย์ นายนิ่ม กลิ่นอุบล เป็นผู้ทำลวดลาย ทำอยู่ 3 ปี จึงแล้วเสร็จ
พ.ศ.2460 ขณะพรรษาที่ 11 ติดตาม พระพิศาลสมณกิจ (ริด) ผู้เป็นอาจารย์ ย้ายสำนักจากวัดคงคาราม มาอยู่ ณ สำนักวัดยางซึ่งอยู่คนละฝั่งถนนราชดำเนิน กระทั่ง พ.ศ.2478 ท่านจึงดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดยาง
เป็นผู้มีความสามารถออกแบบ และควบคุมการก่อสร้างด้วยตนเอง โดยอาศัยการจดจำและการสังเกต ตลอดระยะเวลาที่อยู่วัดยาง ท่านทุ่มเทเรื่องศิลปะการช่างสร้างผลงานไว้มากมาย อาทิ ธรรมาสน์เทศน์หลายหลัง เช่นที่ วัดบัวงาม วัดหนองควง วัดสำมะโรง วัดปากคลองบางครก วัดใหม่ตีนครุ เป็นต้น
นับเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดยาง เปรียบประดุจเป็นแหล่งเพาะช่างใหญ่เป็นที่ชุมนุมช่างแห่งหนึ่งของเมืองเพชรบุรี ผู้ที่ได้ผ่านการบวชเรียนจากสำนักนี้แล้วจะเป็นผู้มีความรู้ทางช่างติดตัวไปเสมอ
นอกจากนี้ หลวงพ่ออินทร์ยังขยายการศึกษาด้านวิชาชีพ สร้างโรงเรียนอาชีพแห่งแรกของจังหวัด ชื่อว่าโรงเรียนช่างไม้วัดยาง เปิดการสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ส.ค.2478 โดยใช้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาได้ขยายย้ายที่ตั้งโรงเรียนไปไว้ที่วัดเลา ซึ่งเป็นวัดร้าง ตั้งอยู่ ถ.บริพัตร ต.ท่าราบ อ.เมืองเพชรบุรี ปัจจุบันคือ วิทยาลัยเทคนิคเพชรบุรี
ตลอดที่อยู่ใต้ร่มเงาพระศาสนา เป็น ผู้ที่มากไปด้วยคุณความดีเป็นอเนกประการ มีศรัทธาแน่วแน่ในพระพุทธศาสนา จึงมีคณะศิษยานุศิษย์และผู้เคารพนับถือมากมาย
ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2478 เป็นเจ้าอาวาสวัดยาง พ.ศ.2478 เป็น เจ้าคณะตำบลบ้านหม้อ
พ.ศ.2481 เป็น พระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2512 ดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี
ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2481 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูพิศาลสมณกิจ
พ.ศ.2493 ได้รับพระราชทานเลื่อน สมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะสามัญ ที่พระพิศาลสมณกิจ
พ.ศ.2505 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชวชิราภรณ์
พ.ศ.2517 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพวงศาจารย์
ตรากตรำต่อการทำงานและหน้าที่พระคณาจารย์ ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ทำให้เริ่มมีอาการอาพาธหนัก ต้องเข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นเวลา 22 วัน
กระทั่งเวลา 21.15 น. วันที่ 28 ก.พ.2524 จึงละสังขารอย่างสงบ สิริอายุ 95 ปี พรรษา 74
ABOUT THE AUTHOR
Hello We are OddThemes, Our name came from the fact that we are UNIQUE. We specialize in designing premium looking fully customizable highly responsive blogger templates. We at OddThemes do carry a philosophy that: Nothing Is Impossible
0 comments:
แสดงความคิดเห็น