ประวัติ หลวงพ่อพิณ อินทสาโร วัดอุบลวรรณาราม จ.ราชบุรี
ประวัติ หลวงพ่อพิณ อินทสาโร วัดอุบลวรรณาราม จ.ราชบุรี
หลวงพ่อพิณ อินทสาโร วัดอุบลวรรณาราม จ.ราชบุรี – “พระครูประสิทธิ์สารคุณ” หรือ “หลวงพ่อพิณ อินทสาโร” อดีตพระเกจิชื่อดังวัดอุบลวรรณาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี เป็นศิษย์ผู้ที่สืบทอดวิชามหาปราบจากหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม
มีนามเดิมว่า พิณ อิ้มสำราญ เกิดเมื่อวันที่ 23 ก.พ.2444 ที่บ้านคลองใหม่ อ.สามพราน จ.นครปฐม บิดา-มารดา ชื่อ นายหลงและนางพริ้ง อิ้มสำราญ
ในวัยเยาว์ บิดานำมาฝากไว้กับเจ้าอาวาสวัดบางช้างเหนือ เพื่อให้เป็นศิษย์วัดและศึกษาเล่าเรียน ต่อมาให้มาอยู่กับทนายสมบุญ ซึ่งสนิทสนมคุ้นเคยกัน เพื่อศึกษาในโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย ศึกษาจนจบมัธยมศึกษาปีที่ 2
พ.ศ.2465 เข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดบางช้างเหนือ จ.นครปฐม มีหลวงพ่อใจ วัดเชิงเลน เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อแหวน วัดบางช้างใต้ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการแหวน วัดบางช้างเหนือ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า อินทสาโร
อยู่จำพรรษาและเล่าเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดบางช้างเหนือ ต่อมาได้ศึกษาบาลี ที่สำนักเรียนวัดทองนพคุณ อ.คลองสาน กทม. ศึกษาทั้งแผนกธรรมและบาลี จนมีความรู้ สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก และสอบได้เปรียญ 5 ประโยค
จากนั้นสนใจทางนักเทศน์จนมีความรู้ในการแสดงพระธรรมเทศนา พร้อมทั้งร่ำเรียนวิชาโหราศาสตร์และพุทธาคมจนมีความรู้ความชำนาญเป็นอย่างดี ต่อมาช่วยกิจการพระศาสนา เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและบาลี โดยเป็นพระครูสอน พระปริยัติธรรมที่สำนักเรียนวัดทองนพคุณ, วัดท่าล้อ จ.กาญจนบุรี, วัดอมรญาติสมาคม, วัดประสาทสิทธิ์ และวัดอุบลวรรณาราม จ.ราชบุรี ตามลำดับ
ในปี พ.ศ.2481 ย้ายอยู่ประจำที่วัดประสาทสิทธิ์ (หลักห้า) อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ได้เปิดการสอนพระปริยัติธรรม แผนกบาลีเป็นแห่งแรกใน อ.ดำเนินสะดวก เป็นผู้อำนวยการสอนด้วยตนเอง
เมื่อได้เห็นขาดแคลนโรงเรียนแก่เด็กๆ ศึกษาไม่เพียงพอ ต้องอาศัยศาลาการเปรียญของวัด จึงได้ปรึกษาพระครูล้อม เจ้าอาวาสวัดประสาทสิทธิ์ เพื่อสร้างโรงเรียนขึ้นที่วัดประสาทสิทธิ์ ชื่อว่า “ศรีพรหมมินทร์” และได้ฉลองโรงเรียนเมื่อพ.ศ.2484
ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดอุบลวรรณาราม พระอธิการนิ่ม เจ้าอาวาสวัดอุบลวรรณาราม ปรึกษาหารือกันเพื่อที่จะสร้างโรงเรียนวัดอุบลวรรณาราม โดยขอร้องให้ช่วยเป็นกำลังหาทุนก่อสร้าง เป็นโรงเรียนอุบลวรรณาราม (นิ่มพิณมุขประชานุกูล)
นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างโรงเรียนอีกหลายโรงในแถบนั้น และท่านยังเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมหลายแห่ง เป็นพระธรรมถึงนักเทศน์ มีญาติโยมนิยมการ แสดงธรรมของท่าน มีประชาชนเลื่อมใสศรัทธาเป็นอันมาก ในปี พ.ศ.2490 พระอธิการนิ่ม เจ้าอาวาสวัดอุบลวรรณาราม ลาสิกขา คณะสงฆ์และคณะกรรมการวัด พร้อมใจกันให้ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสนับแต่นั้นมา
หลังจากดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส พัฒนาบูรณปฏิสังขรณ์วัดจนเจริญรุ่งเรืองตามลำดับ นอกจากจะเป็นพระนักเทศน์ที่มีชื่อเสียงแล้ว ด้านพุทธาคม มีประชาชนทั่วไปให้ความเลื่อมใสอย่างมาก ในงานพุทธาภิเษกต่างๆ จะได้รับการอาราธนาให้ไปร่วมปลุกเสกอยู่เสมอ ใครมีเรื่องเดือดร้อนหรือมีทุกข์มาขอให้ท่านช่วยเหลือ จะเมตตาสงเคราะห์ช่วยเหลือ ทุกราย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่เคารพนับถือของศิษยานุศิษย์ และประชาชนโดยทั่วไป
ชาวบ้านวัดอุบลวรรณารามจะรับรู้กันว่า เป็นพระที่มีบารมีสูงรูปหนึ่งของอำเภอดำเนินสะดวก มีจิตใจโอบอ้อมอารีเก่งทางด้านพระธรรมและบาลี มองดูเผินๆ ท่านเป็นพระนักพัฒนาและเป็นครูสอนพระธรรมและบาลีธรรมดา แต่อีกนัยหนึ่งชาวบ้านจะรู้กันดีว่า เก่งด้านการเทศน์และเป็นอาจารย์สอนพระธรรมและบาลี
พ.ศ.2520 เริ่มอาพาธด้วยโรคชรา และมรณภาพวันที่ 14 ธ.ค.2520 สิริอายุ 77 ปีพรรษา 55
ABOUT THE AUTHOR
Hello We are OddThemes, Our name came from the fact that we are UNIQUE. We specialize in designing premium looking fully customizable highly responsive blogger templates. We at OddThemes do carry a philosophy that: Nothing Is Impossible
0 comments:
แสดงความคิดเห็น