ชาติหน้ามีจริงหรือ ? ตอบปัญหาธรรมะ โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่างพง จ.อุบลราชธานี

ชาติหน้ามีจริงหรือ ? ตอบปัญหาธรรมะ โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่างพง จ.อุบลราชธานี




จะต้องให้รู้ด้วยตนเอง ธรรมะที่แท้จริงเหมือนรสของแอ๊ปเปิ้ล
เรื่องรสของแอ๊ปเปิ้ล เราฟังดูเฉยๆก็ไม่รู้ จะไม่รู้ว่ามันหวานหรือมันเปรี้ยวอย่างไร?
นอกจากเราลองชิมแอ๊ปเปิ้ลนั้นแล้ว นั่นแหละ... จึงจะรู้แจ้งว่า รสของมันเป็นอย่างไร?
อร่อยไหม? ไม่ต้องไปถามใครอีกแล้ว ปัญหามันจบที่ตรงนั้นเอง "

ครั้งหนึ่งมีคนกลุ่มหนึ่งมาถามปัญหาท่านอาจารย์ชา
(หลวงพ่อชา วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี) เรื่องชาติหน้าภพหน้า
เขาสงสัยว่า คนตายแล้วเกิดหรือไม่?

ผู้ถาม : หลวงพ่อครับ ชาติหน้ามีจริงไหม?

ท่านอาจารย์ชา : ถ้าบอกจะเชื่อไหมล่ะ?

ผู้ถาม : เชื่อ

ท่านอาจารย์ชา : ถ้าเชื่อ......คุณก็โง่

ผู้ถาม : คนตายแล้วเกิดไหม?

ท่านอาจารย์ชา : จะเชื่อไหมล่ะ? ถ้าเชื่อ......คุณโง่หรือฉลาด?

แล้วท่านจึงสอนต่อไปว่า

หลายคนมาถามอาตมาเรื่องนี้ อาตมาก็ถามเขาอย่างนี้เหมือนกันว่า
ถ้าบอกแล้วคุณจะเชื่อไหม? ถ้าเชื่อคุณก็โง่
เพราะอะไร ก็เพราะมันไม่มีหลักฐาน-พยานอะไรที่จะหยิบมาให้ดูได้
ที่คุณเชื่อเพราะคุณเชื่อตามเขา คนเขาว่าอย่างไร คุณก็เชื่ออย่างนั้น
คุณไม่รู้ชัดด้วยปัญญาของคุณเอง คุณก็โง่อยู่ร่ำไป
ที่นี้ถ้าอาตมาตอบว่า คนตายแล้วเกิดหรือว่าชาติหน้ามี
อันนี้คุณต้องถามต่อไปอีกว่า ถ้ามี พาผมไปดูหน่อยได้ไหม?
เรื่องมันเป็นอย่างนี้ มันหาที่จบลงไม่ได้
เป็นเหตุให้ทะเลาะทุ่มเถียงกันไปไม่มีที่สิ้นสุด

ที่นี้ ถ้าคุณถามว่าชาติหน้ามีไหม? อาตมาก็ถามว่า พรุ่งนี้มีไหม?
ถ้ามีพาไปดูได้ไหม? อย่างนี้คุณก็พาไปดูไม่ได้
ถึงแม้ว่าพรุ่งนี้จะมีอยู่ แต่ก็พาไปดูไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น
ถ้าวันนี้มี พรุ่งนี้ก็ต้องมี
แต่สิ่งนี้เป็นของที่จะหยิบยกเอามาเป็น วัตถุตัวตนให้เห็นไม่ได้

ความจริงแล้ว พระพุทธองค์ท่านไม่ให้เราตามไปดูถึงขนาดนั้น
ไม่ต้องสงสัยว่าชาติหน้ามีหรือไม่มี
ไม่ต้องไปถามว่า คนตายแล้วจะเกิดหรือไม่เกิด
อันนั้นมันไม่ใช่ปัญหา มันไม่ใช่หน้าที่ของเรา
หน้าที่ของเราคือ เราจะต้องรู้จัก เรื่องราวของตัวเองในปัจจุบัน
เราต้องรู้ว่า เรามีทุกข์ไหม? ถ้าทุกข์ มันทุกข์เพราะอะไร?
นี้คือสิ่งที่เราจะต้องรู้ และเป็นหน้าที่โดยตรงที่เราจะต้องรู้ด้วย
พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราถือเอาปัจจุบันเป็นเหตุของทุกอย่าง
เพราะว่าปัจจุบันเป็นเหตุของอนาคต
คือถ้าวันนี้ผ่านไป วันพรุ่งนี้มันก็กลายมาเป็นวันนี้
นี่เรียกว่าอนาคตคือพรุ่งนี้ มันจะมีได้ก็เพราะวันนี้เป็นเหตุ
ทีนี้อดีตก็เป็นไปจากปัจจุบัน หมายความว่า
ถ้าวันนี้ผ่านไป มันก็กลายเป็นเมื่อวาน นี้เสียแล้ว
นี่คือเหตุที่มันเกี่ยวเนื่องกันอยู่
ฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้เราพิจารณาเหตุทั้งหลายในปัจจุบัน เท่านี้ก็พอแล้ว
ถ้าปัจจุบันเราสร้างเหตุไว้ดี อนาคตมันก็จะดีด้วย
อดีตคือวันนี้ที่ผ่านไป มันย่อมดีด้วย
และที่สำคัญที่สุดคือ ถ้าเราหมดทุกข์ได้ในปัจจุบันนี้แล้ว
อนาคตคือชาติหน้าก็ไม่จำเป็นที่จะต้องพูดถึง

คนหนึ่งพูดว่า : กลัวว่าชาติหน้าจะไม่ได้เกิด

ท่านอาจารย์ชา : นั่นแหละยิ่งดี กลัวมันจะเกิดเสียด้วยซ้ำไป

ในครั้งพุทธกาล สมัยที่พระพุทธเจ้ายังคงมีชีวิตอยู่
มีพราหม์คนหนึ่งมีความสงสัยว่า คนตายแล้วไปไหน? คนตายแล้วเกิดหรือไม่?
ถ้าพระองค์ตอบได้ก็จะมาบวชด้วย
แต่ถ้าตอบไม่ได้หรือไม่ตอบ แกก็จะไม่บวช แกว่าของแกอย่างนั้น
พระพุทธเจ้าจึงตอบว่า มันเป็นเรื่องอะไรของฉันเล่า
พราหม์จะบวชหรือไม่บวช นั่นเป็นเรื่องของพราหม์ ไม่ใช่เรื่องของฉัน
พระองค์ตรัสว่า ถ้าตราบใดที่พราหม์ยังมีความเห็นว่า
มีคนเกิดหรือมีคนตาย คนตายแล้วเกิดหรือคนตายแล้วไม่เกิด
ถ้าพราหม์ยังมีความเห็นอยู่อย่างนี้
พราหม์ก็จะเป็นทุกข์ทรมานอยู่อีกหลายกัลป์
ทางที่ถูกนั้น พราหม์จะต้องถอนลูกศรออกเสียบัดนี้
พระพุทธเจ้าท่านว่า ความจริงแล้วไม่มีใครเกิด ไม่มีใครตาย
พราหม์คนนั้นฟังไม่รู้เรื่อง และจนกว่าแกจะได้เรียนรู้เรื่อง
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้เข้าใจถ่องแท้เสียแล้วนั่นแหละ
จึงจะเข้าใจคำพูดของพระองค์ได้
นั่นจึงจะเรียกว่า การรู้เห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญา
เป็นการเชื่อด้วยปัญญา พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้
ไม่ได้สอนว่า ให้เชื่อว่าคนตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด ชาติหน้ามีหรือไม่มี
อย่างนั่นไม่ใช่เรื่องเชื่อหรือไม่เชื่อ จะถือเอาเป็นประมาณไม่ได้
จะถือเอาเป็นหลักเกณฑ์ไม่ได้
ดังนั้น ที่คุณถามว่า ชาติหน้ามีไหมนั้น
อาตมาจึงถามคุณว่า ถ้าบอกแล้วคุณจะเชื่อไหม?
ถ้าเชื่อ โง่หรือฉลาด? อย่างนี้เข้าใจไหม? ให้เอาไปคิดดูเป็นการบ้านนะ

Share this:

ABOUT THE AUTHOR

Hello We are OddThemes, Our name came from the fact that we are UNIQUE. We specialize in designing premium looking fully customizable highly responsive blogger templates. We at OddThemes do carry a philosophy that: Nothing Is Impossible

0 comments:

แสดงความคิดเห็น